ประเภทของตราสารหนี้
หากแบ่งตราสารหนี้ตามประเภทของผู้ออกจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท
.
1. ตราสารหนี้ภาครัฐ หรือ พันธบัตร (Government Bond)
ตราสารประเภทนี้จะออกโดยกระทรวงหรือหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งจะมีชื่อเรียกต่างกันออกไป
- พันธบัตรรัฐบาล กระทรวงการคลังเป็นผู้ออกเพื่อกู้ยืมเงินจากประชาชนมาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ชดเชยการขาดดุลงบประมาณ หรือปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ
- พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจเป็นผู้ออก มีการค้ำประกันโดยกระทรวงการคลัง เพื่อนำมาลงทุนพัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่างๆ
- พันธบัตรออมทรัพย์ ออกโดยกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือหน่วยงานภาครัฐ เพื่อเป็นทางเลือกในการออมและการลงทุน
- พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อนำเงินไปใช้ดูแลสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
- ตั๋วเงินคลัง กระทรวงการคลังเป็นผู้ออก เป็นตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี
.
2. ตราสารหนี้เอกชน หรือ หุ้นกู้ (Corporate Bond)
ตราสารประเภทนี้ออกโดยบริษัทเอกชนต่างๆ ส่วนใหญ่เพื่อระดมทุนในการขยายกิจการ ส่วนใหญ่จะมีการกำหนดระยะเวลาการออก เช่น 3 ปี 5 ปี 7 ปี 10 ปี 20 ปี หรือหากไม่มีกำหนดระยะเวลาเรียกว่า “หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์” (Perpetual Bond)
.
ผลตอบแทนและความเสี่ยงของหุ้นกู้ของแต่ละบริษัทนั้นมีความแตกต่างกัน สามารถพิจารณาจากการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) สำหรับบริษัทที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับสูง ความเสี่ยงและอัตราผลตอบแทนอาจต่ำ เนื่องจากบริษัทที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับต่ำกว่า มักจะจูงใจนักลงทุนด้วยอัตราผลตอบแทนที่สูง แต่ความเสี่ยงก็สูงตามขึ้นมาเช่นกัน
.
การซื้อขายตราสารหนี้
นักลงทุนสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนตราสารหนี้ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม
1. การลงทุนทางตรง ซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดแรกจากผู้ออกตราสารหนี้ ซื้อขายตราสารหนี้เปลี่ยนมือผ่านตลาดรอง
2. การลงทุนทางอ้อมซื้อขายตราสารหนี้ผ่านการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้
การลงทุนทางตรงในตลาดแรก (Primary Market)
หากต้องการซื้อ พันธบัตรภาครัฐ
- พันธบัตรประเภทออมทรัพย์ นักลงทุนทั่วไปสามารถจองซื้อขั้นต่ำ 1,000 บาทได้ ที่ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทย
- พันธบัตรประเภทอื่น เช่น ตั๋วเงินคลังพันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทย จะออกจำหน่ายให้แก่ นักลงทุนสถาบัน และ/หรือ นักลงทุนรายใหญ่ที่มีคุณสมบัติทางการเงินตามที่กำหนดใน 2 รูปแบบ คือการประมูลแบบแข่งขันราคา (Competitive Bidding) ซึ่งชนะคือผู้ที่เสนออัตราผลตอบแทนต่ำสุดหรือให้ราคาสูงสุด และ การประมูลแบบไม่แข่งขันราคา (Non-Competitive Bidding) สามารถเสนอซื้อในจำนวนเงินที่ต้องการ โดยอัตราผลตอบแทนจะเท่ากับอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยในการประมูลแบบแข่งขันราคา
.
หากต้องการซื้อ หุ้นกู้ของบริษัทเอกชน มีการเสนอขาย 2 รูปแบบ เสนอขายให้แก่นักลงทุนในวงจำกัด (Private Placement : PP) เช่น นักลงทุนสถาบัน หรือนักลงทุนรายใหญ่ ซึ่งจะต้องมีคุณสมบัติทางการเงินตามที่กำหนด แบบเสนอขายแก่ประชาชนทั่วไปในวงกว้าง (Public Offering : PO) ติดต่อซื้อได้ที่สถาบันการเงินที่เป็นผู้จัดจำหน่ายหรือเป็นตัวแทนจำหน่ายโดยตรง ผ่านช่องทางออนไลน์และแอปพลิเคชั่นโมบายแบงกิ้งของสถาบันการเงินได้ โดยจะมีการกำหนดจำนวนหน่วยหรือจำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำไว้ เช่น 100,000 บาท หรือเท่ากับ 100 หน่วย หน่วยละ 1,000 บาท เป็นต้น
.
การซื้อขายในตลาดรอง (Secondary Market)
เป็นการซื้อ ขาย แลกเปลี่ยนมือตราสารหนี้ที่ซื้อจากตลาดแรก เพื่อเพิ่มสภาพคล่องหรือบริหารจัดการเงิน สามารถซื้อขายได้ทั้งแบบ Over the counter หรือ OTC คือไม่มีระบบหรือสถานที่กลางในการจับคู่การซื้อขาย ผู้ที่สนใจที่จะซื้อขายดราสารหนี้สามารถติดต่อกับสถาบันการเงิน และบริษัทหลักทรัพย์ที่มีธุรกรรมการค้าตราสารหนี้
.
การลงทุนทางอ้อมผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้
สำหรับนักลงทุนรายย่อยสามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีนโยบายเหมาะสมกับการยอมรับความเสี่ยงของตนเอง สามารถเลือกลงทุนได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น
.
- Term Fund กองทุนรวมที่มีกำหนดระยะเวลา ส่วนใหญ่ลงทุนในตราสารหนี้ ภาครัฐและเอกชน
- Money Market Fund ลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ที่อายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี
- Fixed Income Fund ลงทุนในตราสารหนี้ที่อายุคงเหลือมากกว่า 1 ปีขึ้นไป
- Foreign Investment Fund ลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศทั้งหุ้นและตราสารหนี้ ฯลฯ
.
ข้อดีของกองทุนรวมตราสารหนี้
1. ใช้เงินลงทุนไม่มาก
2. มีความยืดหยุ่นและสะดวกต่อการบริหารเงิน
3. สามารถเลือกเงื่อนไขในการขายคืนหรือจะถือจนครบกำหนดอายุก็ได้
4. หากลงทุนในกองทุนเปิดจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี
.
ข้อเสียของกองทุนรวมตราสารหนี้
มีความเสี่ยง หากราคาตราสารหนี้เปลี่ยนแปลงมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (Net Asset Value : NAV) ของกองทุนรวม ราคาซื้อขายของหน่วยลงทุนก็จะเปลี่ยนแปลงด้วย








Reference
https://www.setinvestnow.com/th/bond/types-of-bonds
https://www.setinvestnow.com/th/bond/buying-and-selling-bond